ถ้าจะให้เลือกประเทศนึงที่เวลาไปเที่ยวแล้วรู้สึกสงบสุข สงบทั้งกาย สงบทั้งใจ ไม่ต้องคอยระแวงว่าจะโดนล้วงกระเป๋า /ไม่ต้องเครียดเรื่องอาชญากรรม/ ผู้คนไม่เป็นมิตร/ โดนแม่ค้าหลอกขายของ ที่แรกที่นึกถึงก็คงเป็นประเทศ “ภูฏาน”

ประเทศเล็กๆที่ติดกับอินเดียและทิเบต มีประชากรทั้งประเทศแค่ 750,000 คน ได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติจากการที่รัฐบาลใช้หลักการ GNH หรือ Gross National Happiness (ความสุขมวลรวมของประชาชน) แทนการใช้ GDP (Gross Domestic Product) มาบ่งชี้วัดความเจริญของประเทศ – กล่าวคือ เน้นความสุขของประชาชนในประเทศเป็นหลัก

ทำให้หลายๆคนอาจบอกว่าประเทศนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก รีวิวตอนแรกนี้จะขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นที่เราควรรู้ก่อนไปภูฏานให้อ่านกันค่ะ

ไปเที่ยวภูฏานไปยังไง? แพงมั้ย?

ภูฏานเป็นประเทศที่ใฝ่ฝันอยากไปมานานแล้วค่ะ ตั้งแต่สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย แต่พอมาดูค่าใช้จ่ายคือมันสูงมากก (เมื่อเทียบกับประเทศในแถบนี้) ทำให้ต้องพับแพลนเก็บไปก่อน

ปอเดินทางไปกับบริษัททัวร์ที่ติดต่อจากไทยค่ะ ค่าใช้จ่ายรวม 6 หมื่นนิดๆสำหรับ 5 วันค่ะ (ที่พักแบบ 4ดาว) ราคานี้รวมทุกอย่างสำหรับทั้งทริปแล้วค่ะ ค่าเดินทาง/อาหาร 3มื้อ/ไกด์ /ตั๋วเครื่องบิน (บินตรงกับ drukair) ซึ่งฟังดูราคาสูงใช่มั้ยคะ สำหรับทริปแค่ 5 วัน มาดูเหตุผลที่ทำให้ราคาสูงกันค่ะ

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าการมาเที่ยวภูฏาน ทางรัฐบาลเค้ากำหนดค่าใช้จ่ายขั้นต่ำต่อหัวต่อวันไว้สำหรับนักท่องเที่ยวและต้องมากับทัวร์ที่ได้รับการจดทะเบียนถูกต้อง เช่น ปอต้องการไปภูฏาน 5 วัน เค้ากำหนดค่าใช้จ่ายขั้นต่ำต่อวันไว้ที่ 250$ คูณจำนวนวันก็จะเป็น 1,250 $ คือเกือบ 4 หมื่นบาทแล้ว (ถ้าต้องการที่พักที่ดีกว่านี้ก็จะแพงขึ้นไปอีก) ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ เงินส่วนนึงเข้ารัฐ และอีกส่วนนึงบริษัททัวร์จะได้ไป (ไกด์บอกว่าที่ภูฏาน แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่มีบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนเป็นพันบริษัทเลย) โดยรัฐจะเก็บเงินค่าทัวร์จากนักท่องเที่ยวไว้ก่อน พอจบทริป บริษัททัวร์ถึงสามารถส่ง invoice ไปเบิกเงินได้

แน่นอนว่าทำให้ประเทศนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวแบบแบคแพค และทัวร์ 0 เหรียญ ซึ่งข้อดีของการทำแบบนี้ก็คือ รัฐมั่นใจได้ว่าเงินที่นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายในประเทศจะไปหาคนท้องถิ่นจริงๆ คือจะไม่มีประเภททัวร์ที่เอานักท่องเที่ยวตัวเองมาแล้วพาไปเข้าร้านอาหาร ร้านของฝากที่คนประเทศเค้ามาสร้างไว้ สุดท้ายเงินจากนักท่องเที่ยวไม่ได้กระเด็นเข้าประเทศเลย ไกด์บอกว่า ที่นี่เน้นการท่องเที่ยวแบบคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ เท่าที่สัมผัสก็พบว่าทำให้การท่องเที่ยวดูเป็นระเบียบดีค่ะ (จริงๆปอเป็นคนไม่ชอบไปเที่ยวกับทัวร์ แต่ครั้งนี้รู้สึกได้ถึงประโยชน์ที่ตามมากับคนท้องถิ่น)

ข้อเสียก็คงจะเป็นราคาขั้นต่ำของการไปเที่ยวที่ค่อนข้างแพง แต่รู้สึกไม่ผิดหวังที่เลือกไปภูฏาน เพราะประเทศนี้มีส่วนผสมที่ลงตัวของวัฒนธรรม, ธรรมชาติ, สถาปัตยกรรมที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศเค้าไว้

สำหรับใครที่อยากได้รายละเอียดทัวร์ที่ปอไป สามารถ inbox มาได้นะคะ บริการประทับใจ อาหารจัดเต็ม ไกด์น่ารัก ฝั่งไทยก็คอยให้ความช่วยเหลือและถามไถ่ตลอดค่ะ

มาภูฏานควรไปเที่ยวที่ไหนบ้าง?

อย่างที่บอกไปว่าเราต้องเดินทางมากับทัวร์ โดยเค้าจะเป็นคนจัดการให้ทุกอย่างทั้งตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ไกด์ วีซ่า แต่บางบริษัททัวร์เค้าจะมีทัวร์แบบที่เราปรับแผนการเดินทางของเราตามชอบได้ (ค่อนข้างถูกใจคนที่ปกติชอบเดินทางเอง เพราะเลือกเฉพาะสิ่งที่สนใจจะไปเที่ยวได้) ที่นี่เวลาต่างจากไทยแค่ 1ชั่วโมง ปัญหา jet lag แทบไม่ต้องกังวลเลยค่ะ

ถ้ามีเวลา 5 วัน ส่วนใหญ่จะมีเวลาไปเที่ยว 3 เมืองค่ะ เริ่มต้นจาก
1. Paro (เป็นเมืองที่เครื่องบินมาลงที่นี่) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงใช้เวลาประมาณ 1 ชม ครึ่ง มีสถานที่เที่ยวสำคัญในเมืองนี้ คือ Dzhong หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า fortress, national museum และ Tiger nest monastery ที่โด่งดัง

2. Thimphu เมืองหลวงของประเทศภูฏาน จะเห็นตึกรามบ้านช่องที่ค่อนข้างทันสมัยกว่าเมืองอื่น มีร้านค้าและสถานที่สำคัญมากมาย รวมไปถึง dzhong, และวังของเจ้าชายจิกมี่ด้วยค่ะ

3. Punakha เมืองหลวงเก่าของประเทศภูฏาน ที่มีภูมิทัศน์สวยงาม เห็นวิวภูเขาและแม่น้ำแถมยังมีสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในประเทศอยู่ที่นี่

ส่วนตัวของเมือง Paro กับ Punakha มากค่ะ วิวสวยกระชากใจมาก แพ้วิวภูเขาสลับกันไปมา มองไปลิบๆเห็นยอดเขาหิมาลัย บวกกับวิวแม่น้ำที่ตัดผ่านเมืองจริงๆ

คนภูฏานแต่งตัวแบบไหน?

เวลามาภูฏานจะเจอคนท้องถิ่นแต่งกายด้วยชุดประจำชาติค่อนข้างเยอะพอสมควร โดยคนที่นี่จะแต่งเวลาไปโรงเรียน ไปสถานที่ราชการ หรือโอกาสสำคัญต่างๆ (บางคนก็แต่งในชีวิตประจำวันค่ะ)

เครื่องแต่งกายของผู้ชายเรียกว่า Gho (โกะ) คล้ายชุดแต่งกายของคนทิเบต ที่เรียกว่า Chuba เป็นลักษณะเอาผ้าผืนใหญ่ๆมาพันรอบตัว

ส่วนของผู้หญิงก็เป็นแบบในรูปที่ปอใส่อยู่เรียกว่า Kira (คิรา) มีความคล้ายชุดไทยบางแบบอยู่นะคะ ด้านบนเป็นเสื้อหลากหลายสี เอกลักษณ์อย่างนึงคือการพับแขนเสื้อขึ้นมา 1 ตลบ และแบบที่ปอใส่ เค้าไม่มีกระดุมค่ะ เป็นเข็มกลัดชิ้นเดียวบริเวณด้านบน ส่วนด้านล่างคล้ายๆการใส่ผ้าถุง

ส่วนตัวรู้สึกประทับใจที่เห็นคนจำนวนมากใส่เครื่องแต่งกายประจำชาติเดินไปมาในเมืองค่ะ เป็นบรรยากาศที่เห็นได้ไม่บ่อยนักที่ประเทศอื่น

ปล. ในภาพเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดของที่นี่ สวยงามมากค่ะ ข้างใต้พระพุทธรูปสามารถเข้าชมได้
มีพระพุทธรูปเล็กๆนับพันด้านใน คนที่นี่ศรัทธาในพุทธศาสนามากค่ะ

มาภูฏานที่พักเป็นแบบไหน?

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าเราสามารถเลือกแพคเกจที่พักได้ตั้งแต่ 3 ดาว 4 ดาว 5 ดาว (จะมีที่พัก 2 ดาวที่เมืองปูนาคาคืนนึงที่ปอไปพักค่ะ ซึ่งก็ไม่ได้แย่อะไร)

ในภาพคือที่พักแบบ 4ดาว โรงแรมดุสิต D2 ทิมพู ซึ่งเป็นที่พักที่ประทับใจมาก อาหารอร่อย (มีเชฟคนไทย) ห้องดี สะดวกสบาย แถมบริการดีมากค่ะ, ต่อมาเป็นที่พักที่เมือง ปาโร เป็น cottage เล็กๆน่ารัก แถมวิวสวยเทพมาก

และสุดท้ายเป็นที่พักเมืองปูนาคา อันนี้ติดอย่างเดียวที่ไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ค่ะ เจอผ้าเช็ดตัวเปื้อน ต้องขอเปลี่ยน (โรงแรมแจ้งว่าจะปรับปรุง)

 

ไปภูฏานไม่ได้ลำบากอย่างที่คิดค่ะ (ตอนแรกกะไปแบคแพค เเต่ประเทศนี้ทำไม่ได้ด้วยเหตุผลที่เล่าไปเมื่อวันก่อน) ก็เลยลองไปแบบกลางๆ พัก 4 ดาว สรุปว่าประทับใจมากค่ะ

เรื่องเงินๆทองๆ

การแลกเงินก็เพียงแค่เตรียมเงินสกุลหลัก เช่น USD (ควรเป็นแบงค์ใหม่ ปีไม่เก่ากว่า 2006 และไม่มีตำหนิ) หรือ EUR ไปแลกที่สนามบินหรือตามร้านแลกเงินได้เลยค่ะ(เราสามารถแลกได้ที่ร้านของฝากที่มีป้ายว่าเป็นตัวแทนแลกเงินแบบถูกกฎหมายค่ะ) โดยอัตราแลกเปลี่ยนก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันนัก ที่นี่ใช้สกุลเงิน Ngultrum (1USD ประมาณ 70 Ngultrum)

ตามร้านอาหารหรือโรงแรมใหญ่ๆหลายที่สามารถใช้บัตรเครดิตได้ แต่ทางทัวร์แนะนำว่าควรมีเเลกเงินเผื่อติดตัวไปบ้างก็ดีค่ะ ปอแลกเงิน 50$ อยู่ได้ทั้งทริป

อีกทางเลือกนึงคือการใช้เงินสกุล รูปีของอินเดีย (อัตราแลกเปลี่ยน 1:1) คนอินเดียมาเที่ยวที่นี่เยอะมากค่ะ เพราะเค้าได้รับการยกเว้นเรื่องค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้การมาที่นี่ค่อนข้างถูกค่ะ

อาหารที่ภูฏานเป็นยังไง?

เนื่องจากมากับทัวร์ไทย อาหารในหลายๆมื้อก็มีอาหารไทยมาแจมให้เราหายคิดถึงค่ะ คนที่นี่กินข้าวเป็นหลัก อาหารที่เป็นกับข้าวก็จะเป็นแกง ผัดผัก มีชีสในการปรุงอาหารหลายเมนูและกินเผ็ดพอสมควรเลย อาหารท้องถิ่นรสชาติค่อนข้างถูกปากเลยค่ะ มีความผสมอาหารอินเดียหน่อยๆ หนึ่งในความภาคภูมิใจในหลายๆเมนูน่าจะเป็น ไข่เจียวแบบไทย ที่เชฟหลายๆที่ทำเป็น เวลาไปที่ไหนแล้วอยากกินอาหารไทยง่ายๆ บอกเค้าว่า ไทยออมเลท ก็ได้อิ่มท้องไปอีกมื้อ มาดูรูปกันดีกว่าค่ะ ว่ามีอาหารประมาณไหนบ้าง

มาภูฏานจะมีปัญหาเรื่องแพ้ความสูง (high altitude sickness) มั้ย?

เนื่องจากหลายๆส่วนของประเทศนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ทำให้หลายคนกังวลว่าจะมีอาการแพ้ความสูง
โดยปกติเมื่อเราเดินทางไปยังสถานที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลมากๆ อาจจะมีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย สาเหตุเกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาวะออกซิเจนน้อยๆได้
ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่อเดินทางไปในเมืองที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 2000-2500 ม ขึ้นไป

มาดูกันว่าแต่ละเมืองที่คนนิยมไปอยู่ที่ความสูงเท่าไหร่โดยประมาณ

เมือง Paro อยู่สูง 2,200 ม เหนือระดับน้ำทะเล
เมือง Thimphu 2,300 ม เหนือระดับน้ำทะเล
เมือง Punakha 1,240 ม เหนือระดับน้ำทะเล

สำหรับตัวปอเองทั้งทริปไม่มีอาการแพ้ความสูงในทริปนี้ ยกเว้นที่เดียวที่ไปวัดที่อยู่สูงเกิน 3200 ม เหนือระดับน้ำทะเล พบว่ารู้สึกเหนื่อยง่ายและหายใจลำบาก (แต่อยู่วัดนั้นแค่ 15 นาที) พอได้พัก ก็อาการดีขึ้นค่ะ

จากประสบการณ์ส่วนตัวเคยรู้สึกมีอาการแพ้ความสูงรุนแรงกว่านี้ตอนไปภูเขา Jade Dragon snow ที่จีนค่ะ (ยอดสูงประมาณ 4600 ม) จำได้ว่าเหนื่อยมากตอนเดิน หายใจไม่ทัน เกือบจะวูบเลยค่ะ หลายคนที่เดินขึ้นเขาใช้ออกซิเจนกระป๋อง หลังจากวันนั้นเลยรู้สึกว่าครั้งหน้าต้องเตรียมตัวมาให้ดีกว่านี้

สำหรับคนที่จะเดินทางไปที่สูงกว่านี้ เช่น ไปปีนเขาที่เนปาล อาจจะปรึกษาแพทย์และเตรียมยาไปเพื่อป้องกันอาการเหล่านี้ค่ะ

ซึ่งจุดประสงค์หลักอีกอย่างของการมาที่ภูฏานก็คือ มาวิ่งฮาฟมาราธอนค่ะ (จะว่าบ้าก็ได้ แต่รู้สึกว่ามันคือความท้าทายมากๆ ที่จะได้ไปวิ่งบนที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติที่เคยวิ่ง) เรื่องราวจะเป็นยังไง ปอได้ทำรีวิวได้แล้ว ที่นี่ Bhutan International Marathon 2020 

รอติดตามชมตอน 2 นะคะ จะมาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ภูฏานและโปรแกรมที่ได้ไปเที่ยวมาค่าา

You Might Also Like