คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ต้องพาลูกเล็กขึ้นเครื่องบินคงจะมีความกังวลไม่ใช่น้อยเลยใช่มั้ยคะ ขนาดอยู่ที่บ้านบางทียังเกือบขิต นี่ต้องแบกลูกขึ้นเครื่อง อยู่บนที่ที่อากาศจำกัดและพื้นที่จำกัด บินใกล้ไม่เท่าไหร่ แต่บินไกลนี่น่าจะลมจับกันได้อยู่ หลายคนคงเคยประสบปัญหาเจอเด็กกรี๊ดและวี้ดตลอดเที่ยวบินมาก่อน (ก่อนมีลูกคือหลอนมาก พอมีลูกก็พอเข้าใจได้) แต่ลูกเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคนค่ะ ปอเลยไปสรรหาวิธี เทคนิค มาปรับใช้กับลูกของตัวเอง

ด้วยความที่บ้านปอมีความจำเป็นต้องพาลูกบินตั้งแต่ลูก 1 เดือน และต้องบินเกือบทุกเดือน จนตอนนี้นับเที่ยวบินไม่ไหวแล้ว ที่สำคัญ ทุกไฟลท์ผ่านไปได้ด้วยดี ลูกไม่เคยวี้ดหรือกรี้ดงอแงบนไฟลท์ (อาจจะมีร้องไห้บ้างตอนที่บินยาวๆนานๆ แต่เราปลอบและทำให้ลูกสงบได้ใน 5 นาทีค่ะ)  เลยคิดว่าประสบการณ์ตรงที่เราสะสมกันมา น่าจะเป็นประโยชน์กับบ้านอื่นบ้าง ไม่มากก็น้อย

*แน่นอนว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนมีปัญหากับการปรับความดันในหู ยังไงก็มีปัญหาตอนบินค่ะ เลยอยากย้ำตรงนี้ว่าสิ่งที่เขียนในบทความนี้อาจจะไม่เวิคสำหรับทุกบ้านแบบ 100% แต่จะเป็นการแชร์ประสบการณ์หมดเปลือก ทริค เคล็ดลับต่างๆที่ใช้กับลูกชายตอนขึ้นเครื่องบินตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา (แรกเกิด-10 เดือน)

เอาเป็นว่าถ้าจะพาลูกขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก อ่านบทความนี้ น่าจะได้ไอเดียไปปรับใช้แน่ๆค่ะ

Q&A

  1. เด็กเล็กขึ้นเครื่องได้ตอนอายุเท่าไร? >ส่วนใหญ่สายการบินจะกำหนดไว้ที่อายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป (แต่ให้เชคกับสายการบินอีกทีนะคะ) เท่าที่คุยกับคุณหมอที่ดูแลน้องซาช่า ก็แนะนำว่าให้อายุลูกราวๆ 4-6 เดือน เพราะเป็นช่วงที่เด็กมีภูมิคุ้มกันประมาณนึงแล้วในช่วงโควิด ถ้าไม่มีความจำเป็น หมอท่านนั้นก็แนะนำว่าหลีกเลี่ยงการบินไปก่อนสำหรับเด็กทารก
  2. เด็กเล็กเสียค่าตั๋วมั้ย? ซื้อยังไง? >อันนี้แล้วแต่นโยบายของสายการบิน (ควรเชคก่อนซื้อทุกครั้ง) ส่วนใหญ่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ บางสายการบินเด็กบินฟรี บางสายการบินเสีย 10%, 20% ของราคาตั๋วเครื่องบินผู้ใหญ่และต้องจ่ายภาษีสนามบิน tax (แต่รวมๆออกมาก็ไม่มากค่ะ) ซึ่งเงินที่เสียไป บางสายการบินให้น้ำหนักกระเป๋าลูกเพิ่มมาด้วยค่ะ ที่เจอก็มี 10 กก ดังนั้น ถ้ามีความจำเป็นต้องบินในช่วง 2 ขวบแรกที่ราคาตั๋วยังน่ารักแบบนี้ถ้างบถึงเชียร์นั่งบิสเนสขึ้นไปเลยค่า คุ้มค่ามากๆ สมมติบินไปยุโรป พ่อแม่+ลูกต่ำกว่า 2 ขวบ นั่งบิสเนสอาจจะราวๆ 80,000+80,000+8,000 แต่ถ้าลูกเกินสองขวบต้องซื้อตั๋วราคาเต็มก็จะจุกๆไปเลยค่า (ของปอจะเน้นเอาไมล์ที่สะสมมารีบมาแลกไปนู่นนี่ตอนนี้ คุ้มมากๆ)
  3. ต้องยื่นเอกสารวัคซีนมั้ย? : ตั้งแต่บินกับลูกมาจนถึงตอนนี้ (ลูก 10 เดือน, พย 2565) ยังไม่เคยเจอสายการบินไหนของเอกสารวัคซีนใดๆของลูกค่ะ

ก่อนอื่นเลยขอแยกประเภทการบินเป็น 4 หมวดนะคะ

  1. บินในประเทศ เอกสารของลูกที่ใช้คือสูติบัตรของลูกค่ะ (หรือถ้ามีพาสปอร์ตก็เอามาใช้ได้เลย)
  2. บินต่างประเทศ เอกสารของลูกที่ใช้คือ พาสปอร์ตเด็ก และกรณีที่บินไปกับผู้ปกครองท่านใดท่านนึง ส่วนใหญ่สายการบินจะขอใบยินยอมจากผู้ปกครองที่ไม่ได้บินไปด้วยค่ะ
  3. บินใกล้ (ไฟลท์ไม่เกิน 4 ชั่วโมง) ลูกจะได้กินนมตอนขึ้นและลงอย่างละรอบกรณีเด็กเล็กมาก อาจจะมีกิน 1 รอบระหว่างบิน
  4. บินไกล (ไฟลท์เกิน 4 ชั่วโมง) ลูกจะมีรอบกินนมเพิ่มขึ้นจากไฟลท์สั้นที่แม่ควรคำนวณไปเผื่อ จะได้จัดเตรียมนมให้เพียงพอ

ของที่แนะนำให้เตรียม

  1. อุปกรณ์เปลี่ยนผ้าอ้อม : จะเตรียมเป็นกระเป๋าสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมเลยค่ะ กระเป๋านี้เปิดออกมารองตัวลูกได้และใส่ของได้ เช่นแพมเพิส, ครีมทาก้น, ทิชชู่เปียก(เซทเดินทาง)
  2. อุปกรณ์เกี่ยวกับการให้นม ขึ้นอยู่กับประเภทนมที่ลูกกิน (ของปอเข้าเต้าเลยไม่มีอุปกรณ์ใดๆพิเศษ มีแค่ผ้าคลุมให้นม)
  3. ของเล่น เอาไว้ดึงดูดความสนใจเวลาจะงอแง
  4. เป้อุ้ม (อันนี้ช่วยได้ในกรณีไฟลท์ยาวๆ ช่วยลดความเมื่อยจากการอุ้มลูก) ไฟลท์สั้นไม่ต้องใช้ก็ได้ค่ะ
  5. ชุดสำรอง : ถ้าไฟลท์ยาวปอจะเตรียมชุดนอนคลุมเท้า และเสื้อผ้าสำรองเผื่ออะไรเลอะเอาไว้เปลี่ยนค่ะ (บางทีแพมเพิสทะลุ เสื้อผ้าเลอะได้)
  6. กระเป๋าใส่ของข้อ 1-5 เน้นความจุ สะพายสะดวก
  7. รถเข็นเด็ก : เลือกแบบพับได้สะดวก น้ำหนักไม่มาก และขนาดพอดีกับขึ้นเครื่อง (บ้านปอใช้ yoyo babyzen ค่ะไม่ได้ค่าโฆษณาใช้จริงๆมาตั้งแต่ลูกเกิดเลย)
  8. ถ้าลูกอายุ > 6 เดือน สามารถเตรียมอาหารหรือของว่างไปเพิ่มเติมได้

รู้หรือไม่?

การเปลี่ยนผ้าอ้อมบนเครื่องบิน:

บนห้องน้ำสายการบิน ส่วนใหญ่จะมีฐานรองสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ (เคยเจอสายที่ไม่มีคือแค่ 2 ครั้ง เป็นสายการบิน low cost มากๆที่ต่างประเทศ)ส่วนใหญ่จะพับเก็บอยู่เหนือชักโครก วิธีใช้ก็แค่เปิดออกมา แล้วถ้ากลัวสกปรกก็ใช้กระเป๋ารองเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เราเตรียมมารองอีกทีค่ะสายการบินบางแห่ง อาจจะให้ถุงมาเก็บผ้าอ้อมไปทิ้งด้วยค่ะ

สำหรับเด็กเล็ก (ตรวจเชคกับสายการบินอีกครั้งสำหรับขนาดไซส์ที่เค้ากำหนด) สามารถขอเปลบนเครื่องบินหรือที่เรียกว่า bassinet ได้ฟรีโดยส่วนใหญ่จะมีให้บริการในสายการบิน full service และ(อาจจะ) ต้องขอล่วงหน้า เผื่อไฟลท์เต็มแล้วเราอาจจะไม่ได้ตามต้องการนะคะ แนะนำว่าหลังจากซื้อตั๋วเครื่องบินเสร็จ ให้ติดต่อสายการบินเพื่อrequest bassinet ไว้ค่ะ .. สำหรับปอ ลูกตอน 6 เดือนก็ตัวแน่นพอสมควรแล้วค่ะ สูงเกือบๆ 70 ซม ขาชนพอดี คิดว่าเด็กตัวใหญ่กว่านี้อาจจะล้นค่ะ

  • สายการบินส่วนใหญ่จะมีโควต้าให้เราโหลดรถเข็นหรือ car seat ได้ฟรีค่ะถ้าเราเดินทางกับเด็กเล็ก ให้ลองเชคกับสายการบินอีกที (ลองสายการบิน low cost ในยุโรปก็ยังฟรีนะคะ)
  • บางสายการบินจะมีอาหารเด็กเล็กให้บริการค่ะ พวกอาหารบดสำเร็จรูป, มีเครื่องอุ่นนม, ของเล่นแจกเพื่อเอนเตอร์เทนเด็กน้อย (ส่วนใหญ่จะเป็นสายการบิน full service) พนักงานต้อนรับอาจจะมาเสนอหรือเราสามารถขอได้ค่ะ
  • ถ้าต้องบินไฟลท์กลางคืนแล้วไม่มั่นใจในลูกเราว่าจะสงบไหม อาจจะเตรียมของเล็กๆน้อยๆไปฝากผู้โดยสารรอบข้างก็ได้ค่ะ เช่น ear plug, ขนมเล็กๆน้อยๆ พร้อมข้อความขออภัยหากลูกเรารบกวน

สิ่งที่ต้องเจอระหว่างบิน :

ก่อนอื่นเลย อยากบอกว่าการเดินทางกับเด็กเล็ก จะได้สิทธิพิเศษในการขึ้นเครื่องก่อน (การตรวจสัมภาระ บางทีก็เข้าช่องพิเศษได้) ทำให้ก่อนขึ้นเครื่องค่อนข้างเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าปกติ ทางสนามบินจะค่อนข้างให้ความพิเศษตรงนี้เพราะเข้าใจหัวอกคนเดินทางกับเด็กเล็ก ว่ามันชุลมุนและค่อนข้างเหนื่อยเป็นพิเศษค่ะ

หลังจากนั้นหนังชีวิตจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อเราเหยียบเครื่องบินค่ะ 😂 นาทีระทึกใจเริ่มมาถึง สำหรับครั้งแรกเป็นอะไรที่ลุ้นมาก เพราะเราก็คงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าลูกเราจะเป็นอย่างไรบนเครื่องบินใช่มั้ยคะ ขอเล่าประสบการณ์ตรงของตัวเองค่ะ ครอบครัวเรามีความจำเป็นต้องบินไฟลท์ยาว 16 ชม ตอนลูกอายุ 1 เดือนนิดๆ อาจจะฟังดูตลกแต่เราลองซ้อมหาเที่ยวบินสั้นในประเทศก่อนรอบนึง เพื่อดูว่าเราจะรอดมั้ย (ถ้าไม่รอดคงต้องมาปรับแผนใหญ่สำหรับไฟลท์บินยาวอีกที) ปรากฎว่าไฟลท์แรกของบ้านเราผ่านไปได้ด้วยดี ลูกไม่งอแง ไม่ร้องไห้เลยจนคนนั่งข้างหลังงง (ตอนจบไฟลท์เค้ามาถามใหญ่ว่าทำยังไง ฉันมีลูกเล็กเหมือนกัน)  มาดูว่าใช้เทคนิคอะไรบ้าง (ส่วนใหญ่จะเป็นทริคสำหรับไฟลท์ยาวไฟลท์สั้นแปบๆเครื่องลง อาจจะไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรมาก)

  • เมื่อเดินมาถึงที่นั่ง ก่อนเก็บกระเป๋าขึ้นบนช่องเก็บสัมภาระ ให้เตรียมของที่ต้องใช้ระหว่างบินให้พร้อมไว้ใกล้ตัวเช่น ชุดกระเป๋าเปลี่ยนผ้าอ้อม, ผ้าคลุมให้นม, ของเล่น เป็นต้น
  • ถ้าเดินทางพร้อมกันพ่อและแม่ ให้ช่วยกันอุ้มและเอนเตอร์เทนลูกไว้ก่อน จนประกาศให้รัดเข็มขัด
  • หาหมอนหรือสิ่งรองหนุนตัวลูก เพื่อความสบาย รัดเข็มขัดแม่ คล้องเข็มขัดเด็กในสายรัดเข็มขัดแม่ และจับลูกนอนลงเพื่อรัดเข็มขัด (ตอนนี้เด็กบางคนจะเริ่มดิ้นและไม่ชอบ ให้หลอกล่ออีกนิด)
  • เมื่อกัปตันประกาศว่าให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องเตรียมตัวเพื่อ take off ให้เริ่มให้ลูกกินนม หรือดูดจุกหลอก(ช่วงเวลานี้ปกติจะประมาณ 15 นาทีจนเครื่องขึ้นพอดี) ตรงนี้สำคัญมากๆ ระหว่างเครื่อง take off และ landing ต้องให้ลูกดูดอะไรสักอย่างไว้ เพื่อช่วยปรับความดันในหู จะช่วยลดโอกาสการปวดหู และการหวีดร้องจากอาการเจ็บหูค่ะ ของปอจะให้ลูกเข้าเต้า เพราะปกติเค้าจะเคลิ้มๆแล้วนอนหลับหลังกินนม เเม่จะได้พักนิดนึง ไม่ต้องคอยเอนเตอร์เทนลูกตลอดไฟลท์
  • หลังจากเครื่องขึ้นสำเร็จแล้ว หากติดต่อขอ bassinet ไว้ พนักงานต้อนรับจะเอามาติดตั้งให้ในช่วงนี้ ก็สามารถย้ายลูกลงไปนอนได้ค่ะ แม่ได้ไม่ต้องเมื่อยอุ้ม พักแขนบ้างอะไรบ้าง
  • ระหว่างลูกหลับ พยายามหาโอกาสกินข้าว ดื่มน้ำ เอนจอยชีวิตไปค่ะหรือจะแอบงีบก็ได้ แม่จะได้ไม่เครียดเตรียมพร้อมรับมือสำหรับตอนลูกตื่น
  • หมั่นคอยเชคว่าต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมมั้ย ลูกหิวรึยัง อากาศบนเครื่องหนาวหรือร้อนไปสำหรับลูกมั้ย (ส่วนใหญ่จะหนาวมากกว่า ก็เอาชุดแขนยาวขายาวคลุมเท้าที่เตรียมไว้มาเปลี่ยนได้นะคะ)
  • ถ้าลูกร้องหนัก เอายังไงก็ไม่อยู่ ให้ลองใช้เป้อุ้มแล้วพาลูกเดินไปมาดูค่ะ เด็กบางคนไม่ชอบนั่งหรือนอนนานๆ
  • ถ้าทำทุกอย่างแล้วก็ยังไม่ได้ผล คุณพ่อคุณแม่ทำดีที่สุดแล้ว สิ่งอื่นคือนอกเหนือการควบคุม ก็ขอร่วมให้กำลังใจและสวดมนต์ให้ถึงที่หมายไวๆค่า 😆

 

บทความนี้จะเป็นประโยชน์ ไม่มากก็น้อยนะคะ ขอให้เดินทางปลอดภัยทุกท่าน เที่ยวให้สนุกค่า

You Might Also Like